ถ้วยโฟม อันตรายจริงไหม ?
เวลาเพื่อน ๆ ไปซื้ออาหารตามร้านค้า มักจะได้ถ้วยโฟมเป็นภาชนะใส่อาหารกลับมากันบ่อย ๆ ซึ่งถ้วยโฟมเป็นภาชนะที่ในประเทศไทยใช้กันอย่างแพร่หลาย เนื่องด้วยความสะดวก น้ำหนักที่เบา และราคาที่ถูก แต่รู้หรือไม่ ถ้วยโฟมที่เราใช้แล้วทิ้งกัน มีอันตรายบางอย่างตามมา! วันนี้ มารูโมะ จะพาไปรู้จักกับถ้วยโฟมก่อนว่าผลิตมาจากอะไร?

ถ้วยโฟมแน่นอนว่า ผลิตมาจากวัสดุที่เรียกว่า โฟม ที่ผลิตจากพลาสติกประเภทโพลีสไตรีน (Polystyrene) ผลิตออกมาในรูปทรง นิยมนำไปใช้งานหลากหลายประเภท เช่น เม็ดโฟม, โฟมแผ่น, โฟมก้อน, โฟมถ้วย, บรรจุภัณฑ์โฟม โฟมขึ้นรูป หรือโฟมก่อสร้าง
ถ้วยโฟมกับสุขภาพ
🤔 หลายคนอาจคิดว่า อันตรายของการใช้ถ้วยโฟม คือ การนำถ้วยโฟมไปใส่ของร้อน แล้วรับประทานเข้าไป เพราะมีนักวิชาการด้านสุขภาพ นายแพทย์ รวมไปถึงหน่วยงานของภาครัฐ ออกมาให้ข้อมูลจำนวนมากแก่ประชาชนว่า ถ้วยโฟมที่โดนความร้อน จะเกิดปฏิกิริยาที่ทำให้สารอันตรายแตกตัวออกมาปนเปื้อนกับอาหาร ได้แก่ สารเบนซีน (Benzene) ที่หากดื่ม หรือกินอาหารที่มีสารเบนซีนปนเปื้อนสูง จะทำให้เกิดอาการ ปวดท้อง เนื่องจากกระเพาะถูกกัดกร่อน เวียนศีรษะ คลื่นไส้ และอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ และสาร “สารสไตรีน (Styrene)” ที่มีพิษทำลายไขกระดูก ตับ และไต ทำให้ความจำเสื่อม มีผลต่อการเต้นของหัวใจ และเป็น สารก่อ “มะเร็ง”

แต่ยังมีข้อมูลอีกด้านออกมาโต้เถียงว่า ผลกระทบจากถ้วยโฟมที่ถูกความร้อนมีน้อยมาก หรืออาจไม่มีเลย และเป็นการนำข้อมูลทางวิทยาศาสตร์มาบิดเบือน ทำให้เกิดความกลัว จากบทในสัมภาษณ์ของ รศ.เจษฎา เด่นดวงบริพันธุ์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่อธิบายว่า
❝ ถ้วยโฟมนั้นเป็นพลาสติกพวก “โพลีสไตรีน” ซึ่งเป็นสารโพลีเมอร์ของสารสไตรีนโมโนเมอร์ มาเรียงต่อกันอีกที และเมื่อมันมาจับกันเป็นโพลีสไตรีนแบบถ้วยโฟมแล้ว มันจะเสถียรสูงมาก ทนกรดทนด่างได้ดี ทนความร้อนดี ไม่ละลายน้ำร้อน แต่อาจจะบิดเสียรูปทรงไป จึงเป็นที่นิยมใช้กันทั่วโลก และได้รับการรับรองว่าปลอดภัย จากองค์กรทางอาหารทั่วโลก ปริมาณสารสไตรีนโมโนเมอร์ ที่อาจจะมีตกค้างหลังการเป่าขึ้นรูปถ้วยโฟมนั้น มีอยู่น้อยมาก ๆ ตามมาตรฐานการผลิต อีกทั้งถ้วยโฟมนั้น มีเนื้อของพลาสติกโพลีสไตรีนอยู่เพียงแค่ 5% และเป็นอากาศถึง 95% จากการเป่าขึ้นรูป น่าจะยิ่งเห็นภาพว่า มันมีสารสไตรีนโมโนเมอร์อยู่น้อยมาก และถ้ากังวลว่า ถ้วยโฟมโพลีสไตรีนนำมาใส่อาหารแล้ว ความร้อน หรือความเป็นกรดด่าง จะทำให้สไตรีนโมโนเมอร์หลุดออกมาอยู่ในอาหารได้นั้น งานวิจัยที่มีการทดสอบกัน เช่น เอาโฟมโพลีสไตรีนไปใส่น้ำร้อน ใส่อาหารร้อน พบว่า มีสารสไตรีนโมโนเมอร์ออกมาเพียงแค่ประมาณ 1 ในพันเท่าของเกณฑ์ที่กำหนดต่อวันเท่านั้น พูดง่าย ๆ คือ ต้องกินอาหารจากถ้วยโฟมเป็น 1,000 กล่องต่อวัน ถึงจะถึงจุดที่กำหนดไว้ว่าไม่ให้เกิน ❞
ถ้วยโฟมกับสิ่งแวดล้อม
อย่างไรก็ดี อันตรายที่เห็นชัดเป็นประจักษ์ของถ้วยโฟมที่เราใช้กันมาก คือ อันตรายต่อสิ่งแวดล้อม เพราะถ้วยโฟมเป็นวัสดุที่ไม่ย่อยสลายตามธรรมชาติ และเป็นภาชนะที่คนส่วนใหญ่ใช้แล้วทิ้ง ทำให้ถ้วยโฟมกลายเป็นขยะปริมาณมหาศาล ที่ต้องใช้การจัดการ ซึ่งการนำขยะพลาสติกอย่างถ้วยโฟมไปฝัง ต้องใช้พื้นที่มาก สารพิษจากถ้วยโฟมจะตกค้างตามกองขยะ การเผาทำลายยังทำให้เกิดมลพิษในอากาศ เกิดเป็นปัญหาทางสิ่งแวดล้อมตามมา

ตามข้อมูลกรมควบคุมมลพิษ เผยว่า ประเทศไทยจัดเป็นประเทศในอันดับต้น ๆ ที่เป็นแหล่งสำคัญที่พบขยะพลาสติกในทะเล โดยในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีขยะพลาสติกเกิดขึ้นประมาณ 12% ของปริมาณขยะทั้งหมด หรือ ปีละประมาณ 2 ล้านตัน ซึ่งขยะพลาสติกส่วนใหญ่ เป็นพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว เช่น ถุงร้อน ถุงเย็น ถุงหูหิ้ว แก้วพลาสติก หลอดพลาสติก หรือ ถ้วยโฟมบรรจุอาหาร และจากปริมาณขยะพลาสติกทั้งหมด มีจำนวนขยะพลาสติก ที่ถูกกลับไปใช้ประโยชน์ประมาณ 0.5 ล้านตัน ส่วนอีก 1.5 เป็นขยะที่ไม่ถูกนำกลับไปทำประโยชน์ในระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน แต่จะถูกนำไปกำจัดด้วยการฝังกลบ เมื่อมีปริมาณมากขึ้น ก็กลายเป็นปัญหาขยะพลาสติกในระยะยาวได้นั่นเอง

อย่างไรก็ตาม หากจำเป็นต้องใช้ภาชนะโฟม ในการบรรจุอาหาร ก็ให้เลือกกล่องโฟมที่มีมาตรฐานการผลิตที่ดี ส่วนผู้บริโภคที่ต้องการหลีกเลี่ยงการใช้ถ้วยโฟม เพื่อลดปริมาณขยะจากโฟม แนะนำว่าให้เปลี่ยนจากถ้วยโฟมเป็นวัสดุธรรมชาติ เช่น ใบตอง ใบเตย กระบอกไม้ไผ่ เป็นต้น หรือจะพกกล่องข้าวหรือปิ่นโตไปเวลาไปซื้ออาหารก็ได้นะ!
>> สามารถอ่านบทความต่าง ๆ จาก มารูโมะ ได้ตามนี้เลย <<
Leave A Comment