✨ ปัจจุบันการใช้สารเคมีในการกำจัดวัชพืช มีบทบาทสําคัญในการพัฒนาการทางด้านการเกษตรเพื่อให้ได้ผลผลิตสูง ในแต่ละปีมีการใช้สารเคมีเป็นจํานวนมากและมีปริมาณการใช้เพิ่มขึ้นทุกปี เนื่องจากเป็นวิธีกำจัดวัชพืชที่สะดวก รวดเร็ว ประหยัด และมีประสิทธิภาพสูง ✨
ไกลโฟเซต (glyphosate)
เป็นสารกำจัดวัชพืชประเภทดูดซึมและทำให้แห้งตาย จัดเป็นสารประกอบจำพวกออแกโนฟอสฟอรัส (organophosphorus compound) มีประสิทธิภาพในการฆ่าวัชพืชหลายหลากชนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัชพืชใบกว้างและหญ้าที่แข่งขันกับพืช สารไกลโฟเซตอาจอยู่ในลักษณะของผงหรือของเหลว

มักมีการใช้ไกลโฟเซตด้วยการฉีดพ่นและดูดซึมทางใบ หรือการฉีดเข้าที่ลำต้นของวัชพืชที่ต้องการทำลาย เช่น วัชพืชจำพวกหญ้าคา ไมยราบ หญ้าแห้วหมู กก เป็นต้น เพื่อลดจำนวนการเจริญเติบโตของวัชพืชเหล่านั้น ไกลโฟเซตยังไปหยุดการทำงานของเอนไซม์และกรดซึ่งจำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืชและทำให้พืชตายในที่สุด
ไกลโฟเซตถูกดูดซึมเข้าไปออกฤทธิ์ในส่วนที่มีการเจริญเติบโตของพืชนั้น ๆ โดยยับยั้งเอนไซม์ที่ทำหน้าที่ในการสังเคราะห์กรดอะมิโนจำพวกอะโรมาติกที่สำคัญของพืช 3 ชนิด คือ ไทโรซีน ทริปโตเฟน และฟีนิลอะลานีน ดังนั้นการใช้ไกลโฟเซตจึงมีประสิทธิภาพเฉพาะในช่วงที่พืชกำลังเจริญเติบโตเท่านั้น ไม่สามารถใช้เป็นสารควบคุมก่อนงอกได้
➤ การใช้สารกำจัดวัชพืช
สารกำจัดวัชพืช (herbicides หรือ weedkillers) หรือเรียกกันว่า “ยาฆ่าหญ้า” เป็นสารเคมีที่ใช้ในการกำจัดวัชพืชที่คุกคามการเจริญเติบโตของพืชผล แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่

(1) สารแบบเลือกทำลาย (Selective herbicides)
จะเลือกฆ่าพืชเป้าหมายบางชนิด (ตามที่ระบุไว้บนฉลากผลิตภัณฑ์) แต่ไม่เป็นอันตรายหรือเป็นอันตรายเล็กน้อยต่อพืชที่ปลูก เช่น 2, 4-D ที่ถูกใช้เพื่อกำจัดวัชพืชใบกว้างโดยไม่เป็นพิษต่อต้นข้าวที่เป็นพืชใบแคบ เป็นต้น
(2) สารแบบไม่เลือกทำลาย (Non-selective herbicides)
จะเป็นอันตรายกับพืชทุกชนิดที่รับสารนี้เข้าไป เช่น Round-Up ไกลโฟเซต (glyphosate) มักถูกใช้เพื่อฆ่าวัชพืชที่ขึ้นในไร่นาทั้งหมด ก่อนที่จะปลูกเมล็ดพันธุ์พืชที่ต้องการ
➤ อันตรายเมื่อใช้สารไกลโฟเชต
การสัมผัสสารไกลโฟเซต สามารถเกิดได้แบบตั้งใจและไม่ตั้งใจ เช่น การฆ่าตัวตาย การประกอบอาชีพ การรับประทานอาหาร และสิ่งแวดล้อม เมื่อสารไกลโฟเซตเข้าสู่ร่างกายจะทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ ได้แก่ การดูดซึมสารไกลโฟเซตสามารถซึมผ่านเยื่อหุ้มเซลล์แล้วเข้าสู่กระแสเลือดของร่างกาย โดยผ่าน 3 ทางหลัก คือ

1. ระบบทางเดินอาหาร
เกิดจากการรับประทานอาหารที่มีสารไกลโฟเซตปนเปื้อน อุบัติเหตุจากการรับประทานสารเคมีเข้าไป การฆ่าตัวตาย ซึ่งในระบบทางเดินอาหารจะมีการดูดซึมสารไกลโฟเซตประมาณ ร้อยละ20
2. ระบบทางเดินหายใจ
เกิดจากการหายใจเอาละอองฝอย ผ่านทางจมูกเข้าสู่ถุงลมปอดและแพร่กระจายเข้าสู่กระแสเลือด สารเคมีบางส่วนที่ไม่ได้ดูดซึมผ่านทางระบบหายใจอาจถูกกลืนและดูดซึมเข้าสู่ระบบทางเดินอาหาร
3. ผิวหนัง
เกิดขึ้นผ่านทางต่อมเหงื่อและรูขุมขนไปยังเซลล์แล้วเข้าสู่กระแสเลือด สำหรับคนที่มีผิวหนังสมบูรณ์สารไกลโฟเซตจะถูกดูดซึมได้น้อยกว่าร้อยละ3 แต่ในคนที่มีผิวหนัง บกพร่อง สารไกลโฟเซตสามารถถูกดูดซึมได้ถึง 5 เท่าของคนที่มีผิวหนังสมบูรณ์
❝ สารไกลโฟเซตดูดซึมเข้าสู่ร่างกายแล้ว จะเกิดการกระจายของสารเข้าสู่ระบบไหลเวียนโลหิต แล้วมีการแพร่ไปยังเนื้อเยื่อของอวัยวะต่างๆ และเกิดการสะสมในส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ซึ่งพบว่าส่วนใหญ่จะมีการสะสมในไตและตับ เป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้ใช้สารไกลโฟเซต ❞
มาดูกันดีกว่า ว่าประเทศไหนที่ออกมาแบนและจำกัดการการใช้ “ไกลโฟเซต” กันบ้าง?
หนึ่งในนั้น ก็คือประเทศไทย ของเรานั่นเอง ซึ่งประเทศไทยจัดอยู่ในกลุ่ม ประเทศที่จำกัดการใช้ไกลโฟเซต โดยเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2562 คณะกรรมการวัตถุอันตราย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้มีมติแบน 3 สารเคมีกำจัดวัชพืช คือ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต เนื่องจากพบว่ามีอันตรายต่อสุขภาพประชาชนมาอย่างยาวนาน โดยมีผลบังคับทันทีในวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2562
ผลปรากฏว่าผู้ที่ได้รับผลกระทบทั้งเกษตรกร ผู้นำเข้าอาหารสัตว์ต่าง ๆ ออกมาเคลื่อนไหว ต้องการให้เลื่อนการแบน 3 สารเคมีออกไปก่อน โดยให้เหตุผลว่าการห้ามใช้สารกำจัดวัชพืชทั้งสามชนิด จะทำให้พวกเขามีรายจ่ายเพิ่มขึ้น และยังไม่มีวิธีทางเลื่อกอื่นที่เหมาะสมมาทดแทน
แต่หลังจาก เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2562 คณะกรรมการวัตถุอันตรายชุดใหม่ได้มีมติใหม่ “ยกเลิกการแบนไกลโฟเซต เปลี่ยนมาเป็น จำกัดการใช้แทน” และเลื่อนการแบน พาราควอต และคลอร์ไพริฟอส ซึ่งเดิมกำหนดให้มีผลในวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2562 เป็นวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2563 แทน และกระทรวงเกษตรจะถูกมอบหมายให้หาทางเลือกอื่นมาทดแทน
เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ประกาศ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 แบน “พาราควอต – คลอร์ไพริฟอส” ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2563 เป็นต้นไป

❌ ประเทศที่มีคำสั่งห้ามการใช้ไกลโฟเซต ❌
- เยอรมนี ห้ามใช้ไกลโฟเซต
- กรีซ แบนการใช้ไกลโฟเซตทุกผลิตภัณฑ์
- ลักเซมเบิร์ก แบนการใช้ไกลโฟเซตทุกผลิตภัณฑ์
- เวียดนาม แบนการใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชทุกชนิดที่มีไกลโฟเซต
- ซาอุดิอาระเบีย, คูเวต สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, กาตาร์, บาห์เรน และโอมาน 5 ประเทศในในตะวันออกกลาง แบนการใช้สารกำจัดวัชพืชไกลโฟเซต
- มาลาวี ระงับใบอนุญาตนำเข้าไกลโฟเซตในเดือน เมษายน 2019
- โตโก ห้ามไม่ให้นำเข้าใช้ไกลโฟเสตและผลิตภัณฑ์ใด ๆ ที่มีไกลโฟเซตเป็นส่วนผสม
✱ ประเทศที่จำกัดการใช้ไกลโฟเซต (Restrict on Glyphosate Use) ✱
- สหรัฐอเมริกา ไม่ถูกห้ามจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกา
- เดนมาร์ก ห้ามใช้ไกลโฟเซตในพืชหลังการงอกใหม่ทั้งหมด เพื่อหลีกเลี่ยงสารตกค้างในอาหาร
- สาธารณรัฐเช็ก ผ่อนปรนการแบนและขยายเวลาการใช้ Roundup และไกลโฟเซตไปจนถึงสิ้นปี 2022
- เบลเยียม ห้ามการจำหน่ายสารกำจัดวัชพืชในวงกว้าง (รวมถึงไกลโฟเซต) ให้กับผู้ใช้ที่ไม่ใช่มืออาชีพทั่วประเทศ
- อิตาลี ห้ามการใช้ไกลโฟเซตฉีดพ่นก่อนการเก็บเกี่ยว และในพื้นที่เกษตร
- เนเธอร์แลนด์ ถูกจำกัดการขายไกลโฟเซต เนื่องจากความกังวลในเรื่องสุขภาพของประชาชน
- สวิตเซอร์แลนด์ ประกาศจะหยุดใช้สารกำจัดวัชพืชที่มีไกลโฟเซตภายในปี 2025
- สวีเดน ถูกจำกัดให้ใช้ไกลโฟเซตได้ในระดับมืออาชีพเท่านั้น
- สกอตแลนด์ ลดการใช้สารไกลโฟเซต และมองหาทางเลือกที่เหมาะสมหรือจำกัดการใช้งาน
- สโลวีเนีย ห้ามใช้สารกำจัดวัชพืชที่มีไกลโฟเซต
- สเปน บาร์เซโลนา, มาดริด, ซาราโกซ่า และแคว้นเอซเตรมาดูรา ได้ตัดสินใจห้ามใช้ไกลโฟเซต
- โปรตุเกส ไม่อนุญาตให้ใช้ไกลโฟเซตในพื้นที่สาธารณะใด ๆ เช่น สวนสาธารณะ พื้นที่สีเขียว หรือสนามกีฬา
- ออสเตรเลีย กำจัดการใช้ไกลโฟเซต
- นิวซีแลนด์ ไม่มีข้อห้ามในระดับประเทศ แต่ในเมืองโอ๊คแลนด์และไครสต์เชิร์ช มีการห้ามใช้ไกลโฟเซตในพื้นที่สาธารณะ เช่น สวนสาธารณะ และสนามกีฬา
- แคนาดา ห้ามการใช้ไกลโฟเซตในพื้นที่สาธารณะ หรือพื้นที่ของเอกชน
- ศรีลังกา ห้ามการนำเข้าสารกำจัดวัชพืชที่มีไกลโฟเซตทุกผลิตภัณฑ์
- อินเดีย ห้ามการจำหน่ายและการใช้ไกลโฟเซตนักฆ่าวัชพืชและผลิตภัณฑ์ทั้งหมด
- คอสตาริกา ห้ามการใช้สารกำจัดวัชพืชไกลโฟเซตในพื้นที่ป่าคุ้มครองทั้งหมด
- อาร์เจนติน่า จำกัดการใช้ไกลโฟเซต
- เม็กซิโก ห้ามนำเข้าไกลโฟเซต
- โคลอมเบีย หยุดใช้ยาฆ่าวัชพืชที่มีไกลโฟเซตเพื่อทำลายไร่โคคาที่ผิดกฎหมายซึ่งเป็นวัตถุดิบสำหรับการผลิตโคเคน
- เบอร์มิวดา แบนการสารกำจัดวัชพืชไกลโฟเซต แต่สามารถนำเข้าสารไกลโฟเซตที่มีความเข้มข้นแบบจำกัด สำหรับการจัดการวัชพืชริมถนน
✱ นอกจากนี้ ประเทศที่ยังไม่มีความชัดเจน (Unclear on Glyphosate Use) ในการใช้สารไกลโฟเซต คือ ออสเตรีย, ฝรั่งเศส, บราซิล
ส่งท้ายกันหน่อยดีกว่า . . .
หากจำเป็นต้องใช้สารเคมี ขอให้ระมัดระวัง เราจึงมีข้อแนะนำดี ๆ มาฝากกัน ดังนี้
ก่อนการใช้ | ระหว่างการใช้งาน |
---|---|
1) อ่านฉลาก ทำตามคำแนะนำก่อนใช้งาน | 1) ใส่เสื้อผ้าอุปกรณ์ป้องกันให้มิดชิด |
2) ตรวจสอบอุปกรณ์ ก่อนใช้งานทุกครั้ง | 2) ยืนเหนือลมขณะฉีดพ่น |
3) ห้ามเปิดขวดและซองสารเคมีด้วยปาก | 3) ห้ามสูบบุหรี่, กินอาหาร หรือดื่มน้ำ |
4) ห้ามใช้มือเปล่าผสมสารเคมี | 4) หากสารเคมีหกรด ให้รีบล้างด้วยสบู่และน้ำสะอาด |
ไม่ว่าจะใช้สารเคมีในรูปแบบไหน เมื่อเวลาใช้งานเสร็จ ควรรีบถอดเสื้อผ้าแยกซัก อาบน้ำทันที หลังฉีดพ่นเสร็จ และไม่ทิ้งบรรจุภัณฑ์รวมกับขยะทั่วไป เมื่อหากมีอาการผิดปกติ ให้รีบไปพบแพทย์ทัน เพื่อสุขภาพที่ดี ควรเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัยต่อร่างกายกันด้วยนะจ๊ะ
Leave A Comment