ทินเนอร์ (Thinner)
คือ ส่วนผสม (Mixture) โดยนำเอาตัวทำละลาย (Solvent) ชนิดต่าง ๆ มาผสมกันในสัดส่วนที่พอเหมาะเพื่อให้ได้คุณสมบัติตามที่ต้องการ โดยทั่วไปจะใช้ในการเติมเจือจางสีให้ได้ความหนืดที่เหมาะสมกับการใช้งาน ลักษณะเฉพาะของทินเนอร์เป็นของเหลวใส, ไม่มีสี, ระเหยง่าย นอกจากนี้ ทินเนอร์ที่ดียังมีส่วนช่วยให้ฟิล์มสีมีความเรียบขึ้นอีกด้วย ช่วยให้การทาหรือฉีดสเปรย์สีเป็นเรื่องที่ง่ายและเร็วขึ้น โดยที่ไม่ทิ้งร่องรอยหรือความไม่สมบูรณ์ของพื้นผิว ทินเนอร์ถูกนิยมนำมาประยุกต์ใช้ในหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการนำมาล้างเครื่องมือพ่นสี แปรงทาสี หรือหุ่นยนต์อุตสาหกรรม

ตัวทำละลาย (Solvent) ที่นำมาผสมกันเพื่อทำเป็นทินเนอร์ ได้แก่ แอลกอฮอล์ (Alcohol), เอสเตอร์ (Ester), คีโตน (Ketone), อะโรมาติก (Aromatic), อีเตอร์ (Ether) และกลุ่มไฮโดรคาร์บอน (Hydrocarbon) เมื่อนำตัวทำละลายเหล่านี้มาผสมกันในสัดส่วนที่เหมาะสมจะได้ทินเนอร์ที่ใช้งานได้ดีตามวัตถุประสงค์ต่าง ๆ
ตัวทำละลายอินทรีย์ที่มักนิยมใช้เป็นส่วนประกอบหลักของทินเนอร์ ได้แก่ โทลูอีน (Toluene) ซึ่งนอกจากพบในทินเนอร์แล้ว ยังพบได้ในผลิตภัณฑ์อื่น เช่น กาวที่ใช้ซ่อมรองเท้า กาวสำหรับต่อท่อพลาสติก เป็นต้น ในทินเนอร์ประกอบด้วยโทลูอีน ประมาณร้อยละ 66 ร่วมกับตัวทำละลายอื่น ได้แก่ คีโทน ประมาณร้อยละ 17 และแอลกอฮอล์ ประมาณร้อยละ 17
ประโยชน์และการใช้งาน
ทินเนอร์ มักใช้มากทั้งในภาคอุตสาหกรรม และภาคครัวเรือน ได้แก่
① ภาคอุตสาหกรรม
ใช้มากในอุตสาหกรรมสี, โรงพิมพ์, ผลิตพลาสติก, ผลิตสายไฟ รวมถึงอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่จำเป็นต้องใช้ตัวทำละลายสารเคมีชนิดอื่นในกระบวนการผลิต เช่น การละลาย และเจือจางสีหรือหมึกพิมพ์ เป็นต้น
② ภาครัวเรือน
ใช้มากในงานประเภทสี, งานไม้, อู่ซ่อมรถ, โดยใช้ผสมสีเคลือบ สีทา, แลกเกอร์ โดยแบ่งสีหรือสิ่งที่ต้องการผสมใส่ภาชนะ และเททินเนอร์ลงผสมพร้อมคนให้เข้ากันตามอัตราส่วนที่พอเหมาะ

ทินเนอร์ อันตรายแค่ไหน?
- เป็นวัตถุไวไฟ และเป็นพิษ ห้ามรับประทานหรือสูดดม ควรใช้ในที่ที่มีอากาศถ่ายเทได้ดี
- ไอระเหยสามารถกระจายไปได้ในระยะไกล สามารถทำให้ติดไฟและเกิดระเบิดได้ ไม่ควรใช้ในสถานที่อับลม หรือในที่ที่มีสวิทซ์ไฟ เครื่องทำความร้อน เครื่องไฟฟ้าที่ไม่มีระบบกันการระเบิดหรือมีเปลวไฟและประกายไฟ
❝ สารประกอบพวกไฮโดรคาร์บอน (Hydrocarbon) ที่ใช้ ได้แก่ โทลูอีน (Toluene), เบนซีน (Benzene) และไซลีน (Xylene) สารเหล่านี้มีฤทธิ์กดประสาท และหลอนประสาท โดยเฉพาะโทลูอีน หากนำมาสูดดมจะทำให้รู้สึก เคลือบเคลิ้ม สนุกสนาน หากสูดดมมากจะทำให้รู้สึกมึนเมา พูดจาไม่ชัดเจน มีอาการประสาทหลอน ไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ หากมีการสูดดมมาก และเป็นระยะเวลายาวนาน จะทำให้ระบบทางเดินหายใจระคายเคือง เยื่อบุในระบบทางเดินหายใจถูกทำลาย หลอดเลือดฝอยแตก มีการอักเสบของระบบทางเดินหายใจ และทำให้เกิดความล้มเหลวของระบบหายใจตามมา ❞
นอกจากนั้น . . . สารประกอบไฮโดรคาร์บอนยังมีส่วนในการเกิดมะเร็งได้ด้วย รวมถึงสารประกอบในกลุ่มอื่นจำพวกคีโตน และอีเทอร์เช่นกัน
ทำอย่างไร? เมื่อร่างกายสัมผัสกับทินเนอร์
ทินเนอร์เป็นสารเคมีอันตรายที่อาจส่งผลกระทบต่อร่างกายคุณโดยไม่รู้ตัว ซึ่งสารนี้สามารถเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ได้หลายทาง ดังนี้
1) การสัมผัสทางร่างกาย เมื่อผิวหนังสัมผัสกับทินเนอร์ จะส่งผลให้ผิวหนังบริเวณนั้นมีอาการแห้ง แดง ระคายเคือง รวมทั้งอาจเกิดอาการผิวหนังอักเสบได้ หากผิวสัมผัสกับทินเนอร์บ่อยครั้ง หากทินเนอร์กระเด็นหรือสัมผัสกับดวงตาจะทำให้เกิดอาการปวด แสบร้อน และมีน้ำตาไหล
2) การสูดดม จะส่งผลเสียต่อระบบประสาทและร่างกาย โดยทำให้มีอาการต่าง ๆ เกิดขึ้น เช่น เจ็บคอ แสบจมูก ไอ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ วิงเวียน หมดสติ หรือเกิดภาวะเคลิ้มสุขที่นำไปสู่การเสพติดตามมา เป็นต้น
3) การรับประทาน ผลกระทบต่อร่างกายจากการรับประทานทินเนอร์นั้นอาจคล้ายกับการสูดดม แต่ก็อาจมีอาการเฉพาะเกิดขึ้น เช่น ปวดท้อง แสบร้อน คลื่นไส้ และอาเจียน เป็นต้น
► หากได้รับทินเนอร์เข้าสู่ร่างกายหรือสัมผัสสารอันตรายนี้ โดยไม่ได้ตั้งใจ อาจรับมือได้ด้วยวิธีการ ดังต่อไปนี้
- ถ้าสัมผัสผิวหนัง ให้ถอดหรือเปลี่ยนเสื้อผ้าที่ปนเปื้อนทินเนอร์ออก และล้างผิวหนังบริเวณที่สัมผัสกับสารนี้ด้วยน้ำเปล่าปริมาณมากหรืออาบน้ำชำระล้างร่างกาย หากมีอาการที่รุนแรงควรรีบไปพบแพทย์
- ถ้าเข้าสู่ดวงตา ให้ล้างตาด้วยน้ำสะอาดจนกระทั่งอาการปวดแสบดีขึ้น ในบางกรณีอาจต้องใช้นิ้วเปิดเปลือกตาบนและล่างให้ห่างจากกัน เพื่อชะล้างสารเคมีภายในดวงตาและใต้เปลือกตาออกไป จากนั้นให้รีบไปพบแพทย์โดยด่วน
- ถ้าสูดดม ให้พาตัวเองออกมาจากบริเวณที่มีทินเนอร์ปนเปื้อนในอากาศ จากนั้นให้หายใจเพื่อนำเอาอากาศบริสุทธิ์เข้าไปภายในร่างกาย หากพบว่ามีอาการผิดปกติเกิดขึ้นควรไปพบแพทย์ทันที
วิธีหลีกเลี่ยงการรับสารพิษจากทินเนอร์
หากจำเป็นต้องใช้ทินเนอร์หรือผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของทินเนอร์ ควรใช้งานสารเคมีชนิดนี้อย่างระมัดระวัง และปฏิบัติตามคำแนะนำเพื่อความปลอดภัย ดังนี้

- ระหว่างใช้งานควรสวมหน้ากากหรือผ้าปิดจมูก สวมถุงมือ รองเท้า และสวมเสื้อผ้าให้มิดชิด เพื่อหลีกเลี่ยงการสูดดมสารพิษที่อาจสะสมในร่างกายและระบบทางเดินหายใจ
- เมื่อสัมผัสกับตา ผิวหนัง ให้ล้างด้วยน้ำสะอาด และหากมีอาการหนักให้รีบพบแพทย์
- หากมีการกลืนกิน ห้ามอาเจียน และรีบนำส่งแพทย์
- ควรปิดฝาให้แน่น เมื่อเลิกใช้งานแล้ว
- ไม่ควรถ่ายทินเนอร์ลงในภาชนะที่ไม่มีฉลาก
- ควรเก็บในที่มิดชิดและห่างจากมือเด็ก
- สถานที่เก็บควรมีอุณหภูมิระหว่าง 0-40 องศาเซลเซียส ไม่เก็บใกล้แหล่งความร้อน แสงแดด ประกายไฟ
- อ่านฉลากและคู่มือการใช้ผลิตภัณฑ์อย่างละเอียดก่อนใช้
- สวมเสื้อผ้าที่มิดชิดและเหมาะสมกับงาน เพื่อป้องกันร่างกายสัมผัสกับสารเคมี
- สวมถุงมือที่ทนทานต่อทินเนอร์ขณะใช้ผลิตภัณฑ์
- สวมแว่นตาป้องกันทุกครั้งที่ต้องใช้ทินเนอร์ เพื่อป้องกันการระเหยหรือการกระเด็นใส่ดวงตา
- ห้ามสูบบุหรี่ เนื่องจากสารเคมีที่ปนเปื้อนในอากาศสามารถผ่านเข้าสู่ร่างกายได้ด้วยการหายใจและการสูบบุหรี่
- ตรวจสุขภาพเป็นประจำ หากงานที่ทำต้องมีการสัมผัสกับทินเนอร์เป็นประจำไม่ว่าด้วยวิธีใดก็ตาม
- เก็บทินเนอร์ไว้ในที่ที่เหมาะสม โดยเก็บให้ห่างจากเด็กและสัตว์เลี้ยง
- ระมัดระวังการทำงานที่อาจก่อให้เกิดประกายหรือเปลวไฟ เนื่องจากทินเนอร์เป็นสารเคมีที่สามารถติดไฟได้
- แบ่งเวลาพักหายใจในบริเวณที่มีอากาศบริสุทธิ์เป็นระยะ หากต้องทำงานในพื้นที่ที่มีการใช้สารระเหย
เกร็ดความรู้ส่งท้ายกันหน่อย!
หลายคนอาจจะสงสัยว่า “น้ำมันสน” คืออะไร? วันนี้เราเลยมีความรู้เกี่ยวกับน้ำมันสนมาฝากกันด้วย

น้ำมันสน (Pine Oil)
เป็นสารซึ่งเกิดจากการสกัดจากต้นสน เป็นสารประกอบพวกไฮโดรคาร์บอน มีลักษณะเป็นของเหลว สีเหลืองใส สามารถละลายได้ในน้ำมัน ช่วยในการฆ่าเชื้อได้ มักจะนำไปใช้ในการผสมสีน้ำมัน เรียกว่าเป็นสิ่งจำเป็นของช่างทาสี และช่างเขียนภาพอีกด้วย

ปัจจุบันได้มีการนำมาใช้เป็นส่วนผสมเครื่องสำอาง ใช้ในสปา มีประโยชน์ในการนวดลดเซลลูไลท์ มีคุณสมบัติกระตุ้น ต้านเชื้อโรค จึงเหมาะสำหรับใช้กระจายในอากาศเพื่อช่วยให้อากาศบริสุทธิ์ ช่วยให้รู้สึกหายใจปลอดโปร่งสดชื่น ลดอาการหายใจติดขัด อาการไอ หลอดลมอักเสบ ไข้หวัด และไซนัส
น้ำมันสนจะไว้ใช้สำหรับช่างงานไม้เป็นหลัก เพราะไว้ใช้ผสมสีจำพวกสีน้ำมัน สีรองพื้นกันสนิม สีรองพื้นไม้ สีย้อมไม้ สีรองพื้นปูนเก่า วานิช เป็นต้น แต่ไม่ควรใช้ผสมสีแลคเกอร์ สีพ่นอุตสาหกรรม และสียูรีเทน

น้ำมันสน เป็นอันตรายไหม?
อันตรายจากการกิน
โดยเฉพาะกับสัตว์เลี้ยงจะอันตรายมาก หากสัตว์กินน้ำมันสนเข้าไปแล้ว อันนี้ถือว่าอันตรายมากที่สุด ขนาดที่เป็นพิษต่อสุนัขและแมวคือ 1 – 2.5 มิลลิลิตรต่อน้ำหนักตัวหนึ่งกิโลกรัม ถ้าแมวหนัก 4 กิโลกรัม กินน้ำมันสนเพียง 4 – 10 มิลลิลิตรก็ถึงตายได้ ซึ่งมันจะถูกดูดซึมเข้าทางลำไส้ได้ไวมาก และสำหรับแมวแล้วยิ่งอันตรายมาก เพราะอาการพิษจะปรากฏไวและรุนแรงมากกว่าสุนัขอย่างมากเช่นกัน
อันตรายจากการสัมผัสทางผิวหนัง
การสัมผัสโดนที่ผิวหนังหรือเนื้อเยื่ออ่อน เช่น หนังตาหรือเหงือก เหล่านี้จะทำให้สัตว์เกิดความรู้สึกแสบร้อน ระคายที่ผิวหนัง
อันตรายจากการสูดดม
อันตรายของกลิ่น ทำให้อาการคลื่นไส้และมึนหัวได้ง่าย ๆ และจะมีอาการซึมได้
ทินเนอร์ VS น้ำมันสน ต่างกันอย่างไร?
#ทินเนอร์
- ใช้ผสมสีน้ำมัน สีทากันสนิม สีทาเหล็ก ซิลเลอร์ แล็คเกอร์ ยูรีเทน แทบจะทุกชนิด
- สีจะแห้งเร็ว แต่การใช้งานขึ้นอยู่กับเกรดของทินเนอร์
- เวลาสัมผัสผิวจะแสบร้อน อาจจะทำให้เมา หรือเวียนหัวได้
#น้ำมันสน
- ใช้ผสมสีน้ำมัน สีทากันสนิม สีทาเหล็ก
- ใช้สำหรับสีที่แห้งช้าและต้องการความหนาของสี
- สีจะแห้งช้า เวลาล้างไม่แสบร้อนมาก กลิ่นไม่แสบจมูก
- ไม่เมาหรือเวียนหัว ใช้ล้างแปรงสีน้ำมัน
- ส่วนใหญ่จะใช้กับสีที่เป็นสีทึบ
- ไม่สามารถใช้กับแล็คเกอร์หรือยูรีเทนได้ เพราะส่วนผสมไม่เข้ากัน เปรียบเทียบเหมือนเอาน้ำมันไปผสมกับน้ำ
- งานสี ถ้าเอาทินเนอร์ลงก่อน ต้องรอจนทินเนอร์แห้ง สามารถทาสีน้ำมันที่ผสมน้ำมันสนทับได้
- งานสี ถ้าเอาสีน้ำมันไม่ว่าจะผสมน้ำมันสนหรือทินเนอร์ลงก่อน แล้วทับด้วยสีที่ผสมทินเนอร์ ตัวทินเนอร์อาจจะกัดสีที่ลงก่อน ทำให้ลอก ล่อน หรือเหลืองได้
Leave A Comment