น้ำส้มสายชู เครื่องปรุงอาหารที่เรามักใช้ ๆ กันนั้นคือ สารเคมี หรือไม่ เมื่อมันมีส่วนผสมหลักจาก กรดอะซิติก หรือ ที่เรียกกันบ้าน ๆ ว่า กรดน้ำส้ม Marumothai จะพามาหาคำตอบ พร้อมกับประโยชน์หลากหลายที่คุณอาจไม่เคยรู้ ในการนำน้ำส้มสายชูไปประยุกต์ใช้ ในชีวิตประจำวัน
สารบัญ
น้ำส้มสายชู คืออะไร?
น้ำส้มสายชู โดยทั่วไป คือ เครื่องปรุงอาหารชนิดหนึ่ง ที่ใช้เพื่อเพิ่มรสชาติให้กับอาหาร ลักษณะเป็นของเหลว สีใส มีรสเปรี้ยว หากเป็นคนไทย จะนิยมใส่พริกแดง พริกเขียว ลงไปด้วย เป็นพริกน้ำส้ม แต่หากเป็นน้ำส้มสายชู ที่ใช้ปรุงอาหารแบบตะวันตก จะมีลักษณะเป็นสีสันต่าง ๆ กันไป ขึ้นอยู่กับวัตถุดิบที่ใช้ในการหมัก เพื่อทำน้ำส้มสายชู เช่น Balsamic Vinegar ทำจากองุ่นแดง Apple Cider Vinegar ทำจากแอปเปิ้ล ฯลฯ
น้ำส้มสายชู มีกี่ประเภท
หลายคนคงเกิดความสงสัยว่า ทำไมน้ำส้มสายชูบ้านเรา กับ น้ำส้มสายชูที่ชาวตะวันตกใช้กัน ทำไมถึงมีสีสันที่ต่างกัน นั่นก็เป็นเพราะมีกรรมวิธีในการผลิตที่ต่างกันนั่นเอง โดยน้ำส้มสายชู สามารถแบ่งประเภทตามกรรมวิธีการผลิตได้หลัก ๆ 3 ประเภท คือ
1. น้ำส้มสายชูหมัก (fermented vinegar)
เกิดจากการนำธัญพืชหรือผลไม้ ที่มีแป้งและน้ำตาลมาหมัก ด้วยยีสต์ในธรรมชาติให้เป็นแอลกกอฮอล์ก่อน จากนั้น จุลินทรีย์ที่เหลืออยู่ จะเปลี่ยนแอลกอฮอล์ให้กลายเป็นกรดน้ำส้มอินทรีย์ ที่มีรสเปรี้ยว แต่ยังคงมีรสหวานเล็กน้อย ทำให้มีความกลมกล่อมระหว่างรสเปรี้ยวและรสหวาน โดยสีสันของน้ำส้มสายชูนั้น จะมีลักษณะต่าง ๆ กันไป ขึ้นอยู่กับวัตถุดิบที่ใช้ในการหมัก เพื่อทำน้ำส้มสายชู เช่น Balsamic Vinegar ทำจากองุ่นแดง Apple Cider Vinegar ทำจากแอปเปิ้ล Coconut Cider Vinegar ทำจากมะพร้าว ฯลฯ
2. น้ำส้มสายชูกลั่น (white vinegar หรือ distilled vinegar)
มีกรรมวิธีการผลิต โดยการนำเอทิลแอลกอฮอล์ 100% ลักษณะใสเหมือนเหล้ากลั่น ที่ได้จากการผลิตน้ำตาลกลูโคส มาแปรสภาพเป็นกรดน้ำส้มสายชูผ่านเครื่องกลั่น จึงทำให้น้ำส้มสายชูกลั่นมีลักษณะที่เป็นของเหลว ใส สวยงาม มีรสเปรี้ยวอย่างเดียว กลิ่นค่อนข้างฉุนแตะจมูก เนื่องจากมีราคาค่อนข้างถูก จึงเป็นที่นิยมของร้านค้าและร้านอาหารโดยส่วนใหญ่
3. น้ำส้มสายชูเทียม (synthetic vinegar)
เป็น น้ำส้มสายชู ที่ได้จากกระบวนการกลั่นลำดับส่วนของน้ำมันดิบในปิโตรเคมี ทำให้ได้กรดน้ำส้ม หรือ กรดอะซิติก (Acetic Acid) เข้มข้น 100% แล้วนำมาเจือจางกับน้ำสะอาด จนได้น้ำส้มสายชูเทียม ซึ่งมีความเข้มข้นอยู่ที่ 5% ด้วยมีลักษณะใส กลิ่นฉุน รสเปรี้ยว สามารถผลิตได้ปริมาณมาก ๆ และมีลักษณะภายนอกไม่ต่างกับน้ำส้มสายชูกลั่น ทำให้มีราคาถูก และนิยมใช้ในร้านอาหารทั่วไป
น้ำส้มสายชู-น้ำส้มสายชูสูตรเคมี ต่างกันอย่างไร
ไม่ว่าเป็นแบบหมักจากธัญพืชหรือผลไม้ แบบผลิตจากเครื่องกลั่น หรือ กลั่นแล้วนำมาเจือจางกับน้ำเปล่า น้ำส้มสายชู เหล่านี้ล้วนมีส่วนผสมสำคัญคือ กรดอะซิติก ทั้งสิ้น ซึ่งแม้ว่ามีฤทธิ์เป็นกรด แต่ก็เป็นกรดอ่อน และเป็นกรดอินทรีย์ สามารถละลายได้น้ำ ดังนั้น หากนำกรดอะซิติกมาใช้ในการผลิตน้ำส้มสายชูไม่ว่าประเภทใดก็ตาม มีความเข้มข้นของกรดอะซิติกอยู่ที่ประมาณ 4 – 7 % น้ำส้มสายชูนั้น ก็สามารถบริโภคได้อย่างปลอดภัย ไร้กังวล
แต่หากน้ำส้มสายชูนั้น มีความเข้มข้นของกรดอะซิติกมากกว่า 7 % ขึ้นไป น้ำส้มสายชูนั้น ถือว่าเป็นน้ำส้มสายชูสูตรเคมี ไม่เหมาะกับการบริโภค แต่จะถูกใช้เพื่อเป็นตัวทำละลาย สารตั้งต้น และส่วนผสมในผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็น น้ำยาควบคุมเชื้อรา น้ำหมักชีวภาพ หรือว่า ยาทางการแพทย์ อย่าง ยาหยอดหู เป็นต้น โดยส่วนใหญ่แล้วจะใช้ทั้งในรูปแบบของน้ำส้มสายชูเข้มข้น หรือ สารละลายกรดอะซิติกเข้มข้น
ประโยชน์ของน้ำส้มสายชูในชีวิตประจำวัน
1. เพิ่มรสเปรี้ยวให้กับอาหาร
ใช้ในการปรุงอาหารให้มีรสเปรี้ยว ตามที่ต้องการ ไม่ว่าจะเป็นอาหารเช่น ก๋วยเตี๋ยว สลัด น้ำจิ้มต่าง ๆ ฯลฯ
2. ใช้ในการหมักอาหาร
สามารถใช้ในการถนอมอาหาร เพื่อให้เก็บอาหารไว้ได้นาน เหมาะกับการหมักดองอาหาร เช่น น้ำสลัด ผักดอง ผลไม้บางชนิด เป็นต้น
3. ลดกลิ่นคาวของเนื้อสัตว์
เพียงแค่นำเกลือมาผสมน้ำส้มสายชู แล้วทำการแช่เนื้อสัตว์ เช่น เนื้อหมู เนื้อวัว ก่อนนำเข้าสู่ตู้เย็น จะช่วยลดกลิ่นคาว ไม่ทำให้ตู้เย็นเหม็นได้
4. ช่วยให้ขนแปรงสีฟันนุ่ม
หากขนแปรงสีฟันแข็งไป จนแปรงแล้วเจ็บเหงือกเจ็บฟัน เลือดไหลท่วมปาก ให้นำแปรงสีฟันขนแข็ง ๆ ไปต้ม ในน้ำส้มสายชู ขนจะนุ่ม อ่อนโยนต่อเหงือกและฟัน ไม่ทิ่มเหงือกเจ็บปากอีกต่อไป
5. รักษาดอกไม้ให้อยู่ได้นานหลายวัน
หากชอบตกแต่งบ้านด้วยดอกไม้ แล้วอยากให้อยู่ได้นานหลายวัน ให้นำน้ำส้มสายชู 1 ถ้วย ผสมกับ น้ำตาลทราย 5 กรัม และน้ำสะอาด 5 ถ้วย แล้วฉีดพ่นดอกไม้ที่อยู่ภายในบ้าน เพียงเท่านี้ดอกไม้ของคุณก็จะดูสดใหม่ ราวกับมีดอกไม้เองตามธรรมชาติอยู่ภายในบ้านแล้ว
6. ช่วยคืนความขาวสวยให้เสื้อผ้า
ถ้าเสื้อขาว กางเกงขาวของคุณ เริ่มหมองคล้ำ แล้วอยากคืนความขาวสวยให้กับเสื้อผ้า อีกครั้ง ให้ผสมน้ำส้มสายชู ขณะซักลงในน้ำเปล่าและผงซักฟอก จะทำให้ผ้าขาวสะอาดยิ่งขึ้น
7. ป้องกันเนื้อสัตว์เวลาย่างไม่ให้ติดตะแกรง
เพียงนำน้ำส้มสายชูมาทาให้ทั่วตะแกรงก่อนย่างเนื้อสัตว์ ไม่ว่าจะเป็น เนื้อหมู เนื้อไก่ ปลา ปลาหมึก หรือว่า กุ้ง เวลาเนื้อสุก เนื้อจะไม่ติดตะแกรง ทำให้ทานเนื้อย่างได้อร่อย และ ทำความสะอาดตะแกรงง่ายขึ้น
8. ขจัดรอยจีบกระโปรง ให้เรียบสวย
ใช้ฟองน้ำชุบน้ำส้มสายชู ทาตรงรอยจีบให้ทั่ว แล้วใช้ผ้าบาง ๆ ทาบรีด ด้วยเตารีดอุ่น ๆ รอยจีบกระโปรงหรือรอยเลาะตรงขากางเกงจะเรียบหายไปตามต้องการ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
Leave A Comment