โคเคน คืออะไร?

โคเคน (Cocaine) นั้นจัดเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 2 คือ เป็นยาเสพติดให้โทษทั่วไป ในกลุ่มเดียวกับฝิ่น มอร์ฟีน หรือโคเดอีน เป็นต้น โคเคนเป็นสารสกัดจากต้นโคคา ซึ่งมีมากในแถบอเมริกาใต้ จัดเป็นสารอัลคาลอยด์ โคเคอีน ซึ่งมักจะอยู่ในรูปผง เกล็ดสีขาว รสขม ไม่มีกลิ่น ในระยะแรก ๆ โคเคนจะไม่ทนต่อความร้อน ต้องใช้วิธีการฉีดเพื่อให้โคเคนออกฤทธิ์ และมีการพัฒนาที่ทำให้โคเคนทนต่อความร้อนหลังละลาย และกลายเป็นไอที่อุณหภูมิมากกว่า 98 องศาเซลเซียส ทำให้ง่ายต่อการเสพโดยการสูบ คล้ายกับการสูบบุหรี่นั่นเอง วันนี้ มารูโมะ จะพาทุกคนไปรู้จัก โคนเคน อย่างละเอียดกัน ไม่ว่าจะเป็นผลข้างเคียง การออกฤทธิ์และโทษต่าง ๆ

โคเคนเป็นสารกระตุ้นอย่างเข้มข้น มีฤทธิ์ต่อจิตประสาท เช่น การเสียการรับรู้ความเป็นจริง รู้สึกมีความสุข หรือมีอาการกระสับกระส่าย อาการทางกาย เช่น หัวใจเต้นเร็ว, เหงื่อตกและรูม่านตาขยาย อาจส่งผลให้ความดันโลหิตหรืออุณหภูมิกายสูงมากได้ ออกฤทธิ์ภายในไม่กี่วินาทีหรือนาทีหลังใช้ และอยู่ได้ระหว่าง 5-90 นาที ในทางการแพทย์ มีการใช้โคเคนในวงจำกัดให้เป็นยาชาและลดการตกเลือดระหว่างการผ่าตัดจมูกและการผ่าตัดท่อน้ำตา


👉 โคเคนจะถูกผลิตออกมาในรูปของผงแป้งสีขาว และใช้สูดเข้าทางจมูก โคเคนที่ถูกผลิตออกมาในรูปของก้อนผลึกจะเรียกว่า แคร็กโคเคน (Crack Cocaine) ซึ่งผู้เสพจะใช้เสพโดยการสูบผ่านกล้องยาสูบ หรือผสมผงโคเคนกับน้ำเปล่าแล้วฉีดเข้าทางเส้นเลือด หรือสอดเข้าทางทวารหนัก หรืออวัยวะเพศหญิง และความแตกต่างระหว่าง โคเคนแบบผง กับผลึก แคร็กโคเคน มีดังนี้

210129-Content-โคเคน-คืออะไร-ผลข้างเคียงและการออกฤทธิ์-02 edit


แคร็กโคเคนจะออกฤทธิ์ทำให้เคลิบเคลิ้มได้มากกว่าชนิดผง
ทำให้เสพติดได้ง่ายกว่า แต่ให้โทษต่อร่างกายได้อย่างรวดเร็ว และรุนแรงกว่าชนิดผง เช่น ทำให้เกิดอาการหัวใจวาย หรือเส้นเลือดอุดตันตั้งแต่ครั้งแรกที่เสพได้

นอกจากนี้ แคร็กโคเคนยังมีราคาถูกกว่าโคเคนแบบผง เพราะมักผสมสารเสพติดชนิดอื่นเข้าไปด้วยเพื่อให้สารผลิตออกมาเป็นรูปแบบผลึกได้ เช่น ยาบ้า นั่นเอง


 ผลข้างเคียงของ “โคเคน” เป็นแบบไหน?

ผลข้างเคียงจากการใช้โคเคน สามารถได้เป็น 2 ระยะ คือ ผลข้างเคียงระยะสั้น และ ผลข้างเคียงระยะยาว

#ผลข้างเคียงระยะสั้น

โคเคนถือเป็นสารกระตุ้นประสาทชนิดหนึ่ง ที่จะส่งผลกระทบต่อระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้ผู้เสพเมายาอย่างรวดเร็ว รู้สึกตื่นตัว และมีเรี่ยวแรงพละกำลังมหาศาล มีอารมณ์เคลิบเคลิ้ม รู้สึกมีความสุข และสมองตื่นตัวมาก เพราะโคเคนจะกระตุ้นให้ระดับของสารโดพามีน ซึ่งเป็น “สารแห่งความสุข” ในสมองมีเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น ยิ่งมีการเสพโคเคนในปริมาณมากเท่าไร ระดับของสารโดพามีนก็จะยิ่งสูงมากขึ้นเท่านั้น ส่งผลให้เกิดปัญหาการทำงานของระบบต่าง ๆ ในสมองตามมา

อาการที่แสดงให้เห็นผลข้างเคียงระยะสั้นจากการเสพโคเคน มีดังนี้

หัวใจเต้นเร็ว หายใจถี่ ภาวะความดันโลหิต และอุณหภูมิร่างกายสูงผิดปกติ

เกิดอาการบดกราม และขบฟันขณะนอนหลับ

เบื่ออาหาร

นอนไม่หลับ รู้สึกอ่อนล้าเหมือนพักผ่อนไม่เพียงพอ

มีอารมณ์หงุดหงิด และหวาดระแวง

210129-Content-โคเคน-คืออะไร-ผลข้างเคียงและการออกฤทธิ์-03 edit


#ผลข้างเคียงระยะยาว

ผลข้างเคียงระยะยาวจากโคเคน จะออกฤทธิ์ส่งผลกระทบต่อระบบประสาท และอวัยวะส่วนที่เกี่ยวข้องกับวิธีการสูบโคเคนของผู้เสพนั้น ๆ ได้แก่

รู้สึกกระสับกระส่าย หงุดหงิด ฉุนเฉียว ก้าวร้าวกว่าเดิม

เห็นภาพหลอน หูแว่ว หลงอยู่ในภาพจินตนาการของตนเอง ไม่สามารถอยู่กับโลกความเป็นจริงได้

เสียงแหบ ปวดศีรษะ

เกิดโรคทางจิตเวช เช่น โรคซึมเศร้า โรคจิตเภท

ประสาทการรับกลิ่นบกพร่อง หากผู้เสพเสพยาผ่านการสูดเข้าจมูก เช่น หลอดลมตีบ, หายใจลำบาก, เจ็บหน้าอก, เลือดกำเดาไหล

ติดเชื้อโรคติดต่อบางชนิด หากเสพยาผ่านการฉีดเข้าเส้นเลือดร่วมกับผู้เสพรายอื่น เช่น โรคไวรัสตับอักเสบ การติดเชื้อไวรัสเอชไอวี

กลืนอาหารไม่ได้ ติดเชื้อในลำไส้

ร่างกายอ่อนเพลีย ไม่มีแรง คลื่นไส้อาเจียน ปวดท้องน้อย

เบื่ออาหาร หรือมีภาวะขาดสารอาหาร

นอกจากการเสพ โคเคน เกินขนาดจะทำให้ผู้เสพมีพฤติกรรมรุนแรง และมีอารมณ์แปรปรวนแล้ว โคเคนยังส่งผลให้ผู้เสพเกิดอาการป่วยที่รุนแรง หรือเกิดภาวะที่เป็นอันตรายต่อร่างกายได้ เช่น หัวใจวาย, เส้นเลือดอุดตัน, ชัก, หมดสติ และเสียชีวิตได้ในที่สุด ?


วิธีตรวจสารโคเคน

สามารถตรวจหาการเสพโคเคนได้ด้วยการตรวจปัสสาวะ เพราะโคเคนจะถูกขับออกทางปัสสาวะโดยอยู่ในรูปสารเมตาบอไลท์ (Metabolite) ซึ่งเป็นสารซึ่งเกี่ยวข้องกับระบบเผาผลาญทางเคมี ที่ชื่อว่า เบนโซอิลเอคโกนีน (Benzoylecgonine)  ซึ่งโอกาสตรวจพบสารนี้ในปัสสาวะจะขึ้นอยู่กับเวลาที่ตรวจปัสสาวะหลังเสพยา และความถี่ในการเสพโคเคนของตัวผู้เสพเองด้วย 

210129-Content-โคเคน-คืออะไร-ผลข้างเคียงและการออกฤทธิ์-04 edit

 

ผู้เสพติดโคเคนไม่ประจำระยะเวลาที่ตรวจพบจะอยู่ที่ 12 – 48 ชั่วโมง
ผู้เสพติดโคเคนเป็นประจำระยะเวลาที่ตรวจพบจะอยู่ที่ 1 – 4 วัน
ผู้เสพติดโคเคนเรื้อรังระยะเวลาที่ตรวจพบจะอยู่ที่ 2 – 3 สัปดาห์

นอกจากนี้ ปริมาตรปัสสาวะสำหรับตรวจสารเสพติดของผู้เสพยาแต่ละชนิดยังมีความแตกต่างกันด้วย โดยผู้ที่เสพโคเคนจะต้องมีปริมาตรปัสสาวะไม่น้อยกว่า 60 มิลลิลิตร  ? เกณฑ์การตัดสินว่า ผู้ที่ตรวจปัสสาวะมีสารเสพติดอยู่ในร่างกายนั้น จะต้องมีสารอยู่ที่ 300 นาโนกรัมต่อมิลลิลิตรขึ้นไป

โคเคนถูกจัดให้เป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 2 ที่ออกฤทธิ์รุนแรง ซึ่งหากจะนำไปใช้เกี่ยวกับทางการแพทย์ ก็จะต้องได้รับการควบคุม และดูแลอย่างใกล้ชิดโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ส่วนผู้ที่ครอบครอง จำหน่าย นำเข้า หรือส่งออกโคเคน จะต้องได้รับโทษทางกฎหมาย ☠️


“โคเคน” อันตรายต่อร่างกายอย่างไร?

อันตรายของโคเคน เมื่อเสพติดจะส่งผลต่อสภาพจิตใจของผู้เสพ และมีโอกาสกระตุ้นให้ผู้เสพก่ออาชญากรรม ในอดีตพบการชี้ชวนให้ใช้โคเคนจนผู้เสพต้องประสบปัญหาสูญเสียเงินทองเพื่อซื้อหา นอกจากนี้ยังเป็นโทษแก่ร่างกายอีกมากมาย ดังนี้

  • เกิดโรคในทางเดินหายใจ เช่น หลอดลมอักเสบ, ปอดอักเสบ, เลือดออกในจมูก, ผนังกั้นจมูกทะลุ
  • ไม่อยากอาหาร ทำให้น้ำหนักลด
  • มีอาการชักเช่นเดียวกับโรคลมบ้าหมู
  • ใจสั่น
  • เป็นโรคหัวใจขาดเลือด

การเสพโคเคนเป็นประจำจะลดปริมาณออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ส่งผลเสียอย่างรุนแรงต่อผู้เสพ มีโอกาสเสียชีวิตตั้งแต่อายุยังน้อย และในเด็กจะส่งผลให้ร่างกายไม่สร้างฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโต ทำให้การเติบโตหยุดชะงัก


ส่งท้ายสักนิด!

210129-Content-โคเคน-คืออะไร-ผลข้างเคียงและการออกฤทธิ์-05 edit


👉 โคเคนกับประโยชน์ทางการแพทย์

ปัจจุบันทางการแพทย์ในหลายประเทศยังใช้โคเคน ในรูปของสารโคเคนไฮโดรคลอไรด์ (Cocaine Hydrochloride) เพื่อรักษาโรคบางชนิด ขณะที่ในประเทศไทยจะใช้ยาเสพติดให้โทษประเภท 2 และ 4 เช่น มอร์ฟีน, โคเคน เป็นยาชาเฉพาะจุดในห้องผ่าตัด โดยเฉพาะการผ่าตัดจมูกและคอ หรืออย่างมอร์ฟีนก็ใช้เป็นยาระงับปวดชนิดรุนแรง เป็นต้น ซึ่งการใช้ยาเสพติดให้โทษเหล่านี้ในทางการแพทย์ จะมีองค์การอาหารและยา หรือ อย. เป็นผู้จัดจำหน่ายแต่เพียงผู้เดียว และจะจัดส่งให้สถานพยาบาลตามการร้องขอมาเท่านั้น

210129-Content-โคเคน-คืออะไร-ผลข้างเคียงและการออกฤทธิ์-06 edit


👉 โคเคนกับโทษทางกฎหมาย

นอกจากโคเคนจะอันตรายต่อร่างกายแล้ว การเสพโคเคนหรือมีโคเคนไว้ในครอบครอง โดยไม่มีใบอนุญาต ถือว่ามีความผิดตามมาตรา 69 ของ พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ และต้องได้รับโทษทางกฎหมาย โดยมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากมีโคเคน (ตั้งแต่ 100 กรัมขึ้นไป) ไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งยาเสพติดให้โทษประเภท 2 ต้องระวางโทษจำคุก 1 ปี ถึง 10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2 หมื่นบาท ถึง 2 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


เมื่อรู้ทั้งโทษและการออกฤทธิ์ของโคเคนกันแล้ว จะเห็นได้ว่าสารเสพติดไม่ว่าจะเป็นประเภทไหนไม่ควรเข้าใกล้โดยไม่จำเป็น ทั้งการเสพ หรือการมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ซึ่งจะพาหายนะมาหาเราเมื่อไรก็ได้ ดังนั้นอย่าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดทุกชนิดจะดีกว่านะจ๊ะ

>>สามารถอ่านบทความต่าง ๆ จาก มารูโมะ ได้ตามนี้เลย<<


ขอบคุณข้อมูลจาก : oicmed.mahidolsdtc, iLaw