ไซยาไนด์ (Cyanide) คือ สารเคมีอันตรายที่ออกฤทธิ์ได้อย่างรวดเร็ว เป็นกลุ่มของสารเคมีที่มีไซยาไนด์ไอออน (CN-) เป็นองค์ประกอบ สารเคมีกลุ่มนี้มีความเป็นพิษสูงมาก มักพบในรูปของสารประกอบโลหะอัลคาไลด์ที่เป็นของแข็งสีขาว และสารประกอบโลหะหนัก พบได้มากในพืชในรูปของกรดไฮโดรไซยานิค สามารถวิเคราะห์หาได้ในรูปของไซยาไนด์ไอออน สามารถวิเคราะห์หาไซยาไนด์ได้โดยใช้วิธีการกลั่น (Distillation Measurement) เมื่อเข้าสู่ร่างกาย จะเข้าไปยับยั้งการทำงานของเซลล์จนอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต
ไซยาไนด์ เป็นสารเคมีที่มักนำมาใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตกระดาษ สิ่งทอ และพลาสติก สามารถปนเปื้อนได้ทั้งในอากาศ ดิน น้ำ และอาหาร และไซยาไนด์สามารถเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ โดยพบในพืชบางชนิด อย่างอัลมอนด์ แอปเปิล และยังเกิดได้จากกระบวนการเผาผลาญภายในร่างกายมนุษย์ อย่างไรก็ตาม ไซยาไนด์ ปริมาณเพียงเล็กน้อยที่พบในพืชและกระบวนการเผาผลาญนั้นไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิต
ชนิดของไซยาไนด์

1) ไซยาไนด์อิสระ (Free Cyanide)
คือ ไซยาไนด์ในรูปของก๊าซไฮโดรเจนไซยาไนด์ หรือกรดไซยานิค (HCN) และ ไซยาไนด์ไอออน (CN-) สัดส่วนของกรดไซยานิคต่อไซยาไนด์
ไอออน ขึ้นอยู่กับค่าพีเอช และค่าคงที่การแตกตัวของกรดในธรรมชาติจึงมักพบอยู่ไนรูปไฮโดรเจนไซยาไนด์
HCN → H+ + CN–
2) ไซยาไนด์กับโลหะอัลคาไลน์
เป็นไซยาไนด์ที่รวมกับโลหะอัลคาไลด์ เช่น โพแทสเซียมไซยาไนด์ (KCN), ไทโอไซยาเนต (SCN–) และแอมโมเนียมไซยาไนด์ (NH4CN) เป็นต้น
มีสูตรทั่วไป คือ A(CN)x เมื่อ
A = โลหะอัลคาไลน์
X = จำนวนของไซยาไนด์ไอออน
สารประกอบไซยาไนด์กับโลหะอัลคาไลน์มักไม่เสถียร ระเหยตัวง่าย เป็นของแข็งละลายน้ำได้ดี เมื่อละลายน้ำจะแตกตัวให้ไซยาไนด์ไอออน (CN–) ซึ่งมีความเป็นพิษสูง มีกลิ่นคล้ายอัลมอนด์
3) ไซยาไนด์กับโลหะหนัก
เป็นสารประกอบไซยาไนด์กับโลหะหนักชนิดต่าง ๆ โดยไม่มีโลหะอัลคาไลด์เป็นส่วนประกอบ เช่น คอปเปอร์ (II), ไซยาไนด์ (Cu(CN)2), ซิลเวอร์ไซยาไนด์ (AgCN) และซิงค์ไซยาไนด์ (Zn(CN)2) เป็นต้น สารประกอบเหล่านี้ละลายน้ำได้น้อยมาก
❝ ปฏิกิริยาและการย่อยสลาย ไซยาไนด์ไอออนเกิดปฏิกิริยากับสารอื่นได้ดี ได้แก่ ไซยาไนด์ไอออนกับโลหะอัลคาไลด์ เช่น โพแทสเซียมไซยาไนด์ (KCN), ไซยาไนด์ไอออนกับโลหะหนัก เช่น ซิลเวอร์ไซยาไนด์ (AgCN) บางส่วนของสารประกอบจะถูกย่อยสลายโดยจุลินทรีย์ หรือถูกออกซิไดส์กลายเป็นไซยาเนต (CNO–) และย่อยสลายต่อทางเคมีจนได้คาร์บอนไดออกไซด์ แอมโมเนีย และฟอร์เมท ระเหยสู่อากาศ ❞
แหล่งกําเนิดไซยาไนด์
แหล่งกำเนิดในธรรมชาติ
คาร์บอนและไนโตรเจนเป็นธาตุที่มีอยู่รอบ ๆ ตัวเรา โดยประมาณ 80% ของอากาศที่เราหายใจ ประกอบไปด้วยธาตุทั้งสอง นอกจากนี้ ธาตุดังกล่าวยังเป็นองค์ประกอบของกรดอะมิโน ซึ่งเป็นองค์ประกอบพื้นฐานที่สําคัญในโมเลกุลของสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ รวมถึงมนุษย์ด้วย ในธรรมชาติพืชและสัตว์บางชนิดสามารถสังเคราะห์ไซยาไนด์ได้ และใช้เป็นกลไกป้องกันอันตรายจากนักล่าในห่วงโซ่อาหาร แต่สิ่งมีชีวิตจํานวนมากก็สามารถปรับตัวให้ทนต่อไซยาไนด์ หรือขับสารนี้ออกจากร่างกายได้
แหล่งกําเนิดไฮโดรเจนไซยาไนด์ในธรรมชาติจะอยู่ในรูปของสารประกอบที่มีลักษณะคล้ายน้ำตาล ที่เรียกว่า อะมิกดาลิน (Amygdalin) ซึ่งพบได้ในผลไม้ ผัก เมล็ด และถั่วต่าง ๆ เช่น แอปริคอท, พีช, ถั่วงอก, ข้าวโพด, มะมวงหิมพานต์, เชอร์รี, มันฝรั่ง และถั่วเหลือง เป็นต้น

👉 พืชต่าง ๆ เหล่านี้มีไซยาไนด์อยู่ในรูปไซยาโนไกลโคไซด์ต่าง ๆ กัน เช่น ในมันสำปะหลังพบในรูปลินามาริน (Linamarin) และโลทอสตราลิน (Lotaustralin) ร้อยละ 80-90 และที่เหลือพบในรูปของไซยาไนด์อิสระหรือไฮโดรเจนไซยาไนด์ ในขณะที่ในแอบเปิ้ลพบในรูปอะมิกดาลิน (Amygdalin) และพรูนาริน (Prunasin) เป็นต้น ในพืชจะมีเอนไซม์ที่สามารถย่อยสลายไซยาโนไกลโคไซด์ต่าง ๆ เหล่านี้ให้เป็นไฮโดรเจนไซยาไนด์ ซึ่งเป็นพิษต่อศัตรูผู้รุกรานได้ เช่น ในมันสำปะหลังจะมีเอนไซม์ลินามาริเนส (Linamarinase) พบในส่วนต่าง ๆ ของพืช สามารถย่อยลินามารินไปเป็นไฮโดรเจนไซยาไนด์ ซึ่งเป็นพิษ
ปริมาณความเข้มข้นของ ไซยาไนด์ ในพืชต่าง ๆ
ชนิดของพืช | ความเข้มข้นของไซยาไนด์ (mg.kg-1) |
---|---|
มันสำปะหลัง ในส่วนต่าง ๆ ดังนี้ | |
► ใบ | 377 – 500 |
► หัวมัน | 138 |
► หัวมันอบแห้ง | 46-100 |
► หัวมันบด | 81 |
หน่อไม้ | Max. 8,000 |
ถั่วไลมา (Lima bean) | 2,100 |
อัลมอนด์ | 280 – 2,500 |
พืชแต่ละชนิดและส่วนต่าง ๆ ของพืชนั้น มีปริมาณไซยาไนด์แตกต่างกัน อย่างไรก็ตาม การนำพืชหรือมันสำปะหลังไปล้างให้สะอาดและปรุงสุกแล้วก็สามารถบริโภคได้อย่างปลอดภัย ?
👉 ส่วนในร่างกายมนุษย์สามารถกำจัดไฮโดรเจนไซยาไนด์ โดยเอนไซม์โรดานีส (Rhodanese) และเบต้า-ไซยาโนอะลานีนซินเทส (Beta-Cyanoalanine Synthase) ให้เป็นไทโอไซยาเนต (Thiocyanate) ซี่งมีพิษน้อยลงและสามารถขับทิ้งทางปัสสาวะได้ นอกจากนี้ ยังมีวิธีการลดพิษไซยาไนด์ในพืชหลายวิธี เช่น การให้ความร้อน การปรุงอาหาร เป็นต้น ซึ่งระดับของไซยาไนด์ที่เป็นพิษ (lethal dose) ต่อมนุษย์ คือ 0.5–3.5 มิลลิกรัม/กิโลกรัม
ไซยาไนด์ที่มนุษย์สังเคราะห์ขึ้น
ไฮโดรเจนไซยาไนด์ เป็นสารเคมีชนิดแรกในกลุ่มไซยาไนด์ที่ถูกสังเคราะห์ขึ้น เป็นแก๊สที่ไม่มีสี มีกลิ่นขมคล้ายเมล็ดอัลมอนด์ และนำไปใช้เป็นสารเริ่มต้นในการสังเคราะห์สารประกอบไซยาไนด์อื่น ๆ โดยทั่วไปไฮโดรเจนไซยาไนด์มักถูกสังเคราะห์ขึ้นจากการทําปฏิกิริยาของแอมโมเนีย (NH3) และแก๊สธรรมชาติ (แก๊สมีเทน, CH4) ในสภาวะที่มีออกซิเจน ที่อุณหภมู ิประมาณ 1200°C โดยใช้แพลทินัม (platinum, Pt) เป็นตัวเร่งปฏิกิริยา ในแต่ละปีอัตราการผลิตไฮโดรเจนไซยาไนด์อยู่ที่ประมาณ 1.4 ล้านตันต่อปี โดย 13% ของปริมาณนี้ถูกนำไปสังเคราะห์โซเดียมไซยาไนด์ ซึ่งเกิดจากการทำปฏิกิริยาของไฮโดรเจนไซยาไนด์และโซเดียมไฮดรอกไซด์ แล้วระเหยเอาน้ำออก เรียกกระบวนการผลิตนี่ว่า Neutralization-Wet process และนําไปใช้ในอุตสาหกรรม เช่น การทําเหมืองแร่ทองคํา การชุบโลหะ และเครื่องประดับ ส่วนที่เหลืออีก 87% นำไปใช้ในอุตสาหกรรมอื่น ๆ เพื่อผลิตผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน

อุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่ใช้ไซยาไนด์
สาร | อุตสาหกรรมที่ใช้ |
---|---|
แคดเมียมไซยาไนด์ (Cadmium cyanide, Cd(CN)2) | อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ |
แคลเซียมไซยาไนด์ (Calcium cyanide, Ca(CN)2) | ใช้เป็นสารฆ่าเชื้อรมควันผลิตภัณฑ์ ใช้ผลิตสาร HCN และ Ferro Cyanide และใช้รักษาสภาพของซีเมนต์ |
ไซยาโนเจน โบรไมด์ (Cyanogen bromide, CNBr) | ใช้ในการสกัดทองคำ ผลิตย่าฆ่าแมลง |
ไฮโดรเจนไซยาไนด์ (Hydrogen cyanide, HCN) | อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ใช้เป็นสารช่วยจับโลหะ, อุตสาหกรรมผลิตยา ใช้เป็นส่วนผสมยาฆ่าแมลง และยากำจัดหนู |
นิเกิลไซยาไนด์ (Nickel cyanide, Ni(CN)2 . 4H2O) | อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ |
โพแทสเซียมไซยาไนด์ (Potassium cyanide, KCN) | อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ใช้ในกระบวนการผลิตเหล็กกล้า ใช้สำหรับสกัดแร่ ใช้เป็นส่วนผสมน้ำยาขัดเงา และใช้ในกระบวนการล้างภาพ |
โพแทสเซียม เฟอร์ไรไซยาไนด์ (Potassium ferricyanide, K3Fe(CN)6) | ใช้ในกระบานการล้างภาพ และงานพิมพ์เขียว การให้ความร้อนแก่โลหะ และใช้ในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ |
ซิลเวอร์ไซยาไนด์ (Silver cyanide, AgCN) | อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ |
นอกจากนี้ กิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ เช่น การกลั่นน้ำมัน, การเผาไหม้ของเชื้อเพลิงรถยนต์, การสูบบุหรี่ และการรับประทานอาหารที่มีไซยาไนด์เป็นองค์ประกอบ เช่น อัลมอนด์ ถั่วไลมา กาแฟ และเกลือ ก็สามารถปล่อยไซยาไนด์ออกมาได้เช่นกัน
? พิษของไซยาไนด์
ไซยาไนด์เป็นสารเคมีที่มีความเป็นพิษสูง ที่สามารถพบได้ทั่วไปในสิ่งแวดล้อม ซึ่งอาจเป็นผลมาจากกระบวนการทางธรรมชาติและจากกิจกรรมต่าง ๆ ในภาคอุตสาหกรรม โดยไซยาไนด์ สามารถเข้าสู่ร่างกายได้ทั้งทางปาก การหายใจ และการดูดซึมผ่านทางผิวหนังและตา โดยระดับความรุนแรงจากพิษของไซยาไนด์ จะขึ้นอยู่กับปัจจัย 4 ประการ ได้แก่ ชนิดของสิ่งมีชีวิต, ระยะเวลาการได้รับ, ปริมาณที่ได้รับ และเส้นทางการได้รับ เช่น การหายใจ การกลืน หรือการฉีด เป็นต้น
โดยผลกระทบจากการได้รับ ไซยาไนด์ แบ่งได้ 2 ประเภท ดังนี้
ภาวะเป็นพิษแบบเฉียบพลัน เป็นอาการที่พบได้ยาก เกิดขึ้นในทันที อาจทำให้เกิดอาการ เช่น หายใจติดขัด เลือดไหลเวียนผิดปกติ ภาวะหัวใจหยุดเต้น สมองบวม ชัก และหมดสติ เป็นต้น
ภาวะเป็นพิษแบบเรื้อรัง เกิดจากการได้รับไซยาไนด์ปริมาณเล็กน้อยต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน ในเบื้องต้นอาจทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ ง่วงซึม คลื่นไส้ อาเจียน เกิดผื่นแดง และอาจมีอาการอื่น ๆ เกิดขึ้นตามมา เช่น รูม่านตาขยาย ตัวเย็น อ่อนแรง หายใจช้า เป็นต้น นอกจากนี้ หากไม่ได้รับการรักษาเป็นเวลานาน อาจทำให้หัวใจเต้นช้าหรือเต้นผิดปกติ ผิวหนังบริเวณใบหน้าและแขนขากลายเป็นสีม่วง โคม่า และเสียชีวิตในที่สุด

หากสัมผัสกับ ไซยาไนด์ ควรรับมืออย่างไร?
หากสัมผัสกับสารชนิดนี้ ควรรีบลดปริมาณสารดังกล่าวให้ได้มากที่สุด มีวิธีการรับมือ ดังนี้
- การสัมผัสทางผิวหนัง หากร่างกายสัมผัสกับ ไซยาไนด์ ให้ถอดเสื้อผ้าที่ปนเปื้อนออกด้วยการใช้กรรไกรตัดเสื้อผ้าออกเป็นชิ้น ๆ และนำออกจากลำตัว โดยวิธีนี้จะช่วยให้เสื้อผ้าที่ปนเปื้อนไม่ไปสัมผัสกับผิวหนังส่วนอื่น เช่น ศีรษะ และไม่ควรให้ผู้อื่นสัมผัสร่างกายหรือเสื้อผ้าโดยตรง เพราะอาจได้รับพิษไปด้วย จากนั้น จึงทำความสะอาดร่างกายด้วยน้ำและสบู่เพื่อลดปริมาณสารพิษให้ได้มากที่สุด ก่อนรีบนำส่งโรงพยาบาล
- การสูดดมและรับประทาน หากสูดดมอากาศที่มีไซยาไนด์ปนเปื้อนควรออกจากพื้นที่บริเวณนั้น หากไม่สามารถออกจากสถานที่ได้ควรก้มต่ำลงบนพื้น ในกรณีที่ผู้ป่วยหายใจลำบากหรือหยุดหายใจ ต้องทำ CPR เพื่อปฐมพยาบาลเบื้องต้นและรีบนำตัวส่งโรงพยาบาล แต่ห้ามใช้วิธีเป่าปากหรือวิธีผายปอดเพื่อหลีกเลี่ยงการได้รับพิษ
- การสัมผัสทางดวงตา ควรถอดแว่นตาหรือคอนแทคเลนส์ออก จากนั้น ใช้น้ำสะอาดล้างตาต่อเนื่องกันอย่างน้อย 10 นาที และไปโรงพยาบาลเพื่อรับการตรวจ
สิ่งของบางอย่างที่ปนเปื้อน ไซยาไนด์ อาจนำกลับมาใช้ใหม่ได้ แต่ต้องทำความสะอาดเพื่อกำจัดสารพิษอย่างถูกวิธีก่อนนำกลับมาใช้ สำหรับคอนแทคเลนส์ หรือเสื้อผ้าที่ปนเปื้อนควรเก็บใส่ถุงพลาสติกที่มิดชิดและกำจัดทิ้งอย่างเหมาะสมตามคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญ ?
ตารางความสัมพันธ์ในการตอบสนองของมนุษย์และสัตว์ต่อปริมาณความเข้มข้นของการได้รับ “ไฮโดรเจนไซยาไนด์ในอากาศ”
ประเภท | ความเข้มข้น HCN (ppm) | การตอบสนอง |
---|---|---|
มนุษย์ | 270 | เสียชีวิตทันที |
181 | เสียชีวิตหลังได้รับ 10 นาที | |
135 | เสียชีวิตหลังได้รับ 30 นาที | |
110 – 135 | เสียชีวิตหลังได้รับ 30 – 60 นาที หรือนานกว่านี้ | |
45 – 55 | ทนได้นาน 30 – 60 นาที โดยไม่แสดงอาการเฉียบพลัน | |
18 – 36 | แสดงอาการเล็กน้อยหลังได้รับนานหลายชั่วโมง | |
หนู | 1300 | ตายทันทีหลังได้รับ 1 – 2 นาที |
110 | ตายทันทีหลังได้รับ 45 นาที | |
45 | ตายทันทีหลังได้รับ 2.5 – 4 ชั่วโมง | |
แมว | 315 | ตายอย่างรวดเร็ว |
180 | ตาย | |
125 | ได้รับพิษอย่างชัดเจนภายใน 6 – 7 นาที | |
สุนัข | 315 | ตายอย่างรวดเร็ว |
115 | ตาย | |
90 | อาจทนได้นานเป็นชั่วโมง และตายหลังจากนั้น | |
30 – 65 | อาเจียน ชักกระตุก และอาจตายได้ | |
30 | อาจทนได้ | |
กระต่าย | 315 | ตาย |
120 | ไม่แสดงอาการชัดเจน |
แก๊สไฮโดรเจนไซยาไนด์ คืออะไร?
ไฮโดรเจนไซยาไนด์ (Hydrogen cyanide, สูตรเคมี HCN) เป็นก๊าซที่ไม่มีสี ซึ่งก่อให้เกิดอาการไอ มีเสมหะ และหลอดลมอักเสบเรื้อรัง ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ และคลื่นไส้อาเจียน เป็นก๊าซพิษที่ใช้ในสงคราม นอกจากนี้สารไนเตรตในบุหรี่ ทำให้เกิดไฮโดรเจนไซยาไนด์ สารนี้เป็นตัวสกัดกั้นเอนไซม์ที่เกี่ยวกับการหายใจหลายตัว ทำให้เกิดความผิดปกติของการเผาผลาญพลังงานที่กล้ามเนื้อหัวใจ และที่ผนังหลอดเลือด
👉 เป็นแก๊สพิษที่มีความรุนแรงมากกว่าแก๊สคาร์บอนมอนอกไซด์ ส่วนผสมในอากาศ 100 ppm. มีผลให้ผู้สูดดมหมดสติและเสียชีวิตได้ในเวลา 30-60 นาที แก๊สนี้เกิดจากการเผาไหม้สารประกอบไฮโดรคาร์บอน ที่มีองค์ประกอบของคลอรีน เช่น พวกพลาสติก, ยาง, เส้นใย, ขนสัตว์, หนังสัตว์, ไม้ หรือผ้าไหม เป็นแก๊สที่เบากว่าอากาศ จึงมีอันตรายมากในการเผาไหม้ในอาคารหรือบริเวณจำกัดต่าง ๆ
ไซยาไนด์ ในรูปแบบไหนที่เป็นอันตรายต่อชีวิต?
สารเคมีอันตรายชนิดนี้มีรูปแบบที่หลากหลายทั้งในรูปแบบของแข็ง ของเหลว และแก๊ส โดยแต่ละชนิดมีแหล่งที่มาและคุณสมบัติที่แตกต่างกันไป ดังนี้

- Sodium Cyanide (NaCN) เป็นของแข็งสีขาว อาจอยู่ในรูปแบบผลึก แท่ง หรือผง พบได้ในอุตสาหกรรมเหมืองแร่ ใช้ในการเคลือบเงาหรือเคลือบสีเหล็ก และเป็นส่วนประกอบในยาฆ่าแมลง สามารถเข้าสู่ร่างกายจากการสัมผัสบริเวณปากแผล การสูดดม หากรับประทานอาจเป็นพิษถึงตายได้
- Potassium Cyanide (KCN) มีลักษณะเป็นก้อนผลึก หรือผงสีขาว เมื่อเป็นของเหลวจะใสไม่มีสี กลิ่นคล้ายแอลมอนด์ มักนำมาใช้ในการสกัดแร่ อย่างทองหรือเงิน และยังพบได้ในยาฆ่าแมลง เมื่อ Potassium cyanide เจอกับความร้อนจะทำให้เกิดควันพิษ หากได้รับเข้าสู่ร่างกายอาจรบกวนการทำงานของอวัยวะภายในจนเป็นอันตรายถึงชีวิต
- Hydrogen Cyanide (HCN) อาจมาในรูปของของเหลว หรือแก๊สที่ไม่มีสี พบในควันจากท่อไอเสีย ควันบุหรี่ และควันจากโรงงานอุตสาหกรรม เมื่อสูดดมอาจทำให้เกิดผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจ ระบบประสาทส่วนกลาง รวมทั้งยังอาจก่อให้เกิดการระคายเคืองตามผิวหนังและดวงตา
- Cyanogen Chloride (CNCl) มีลักษณะเป็นของเหลว หรือแก๊สที่ไม่มีสี มีกลิ่นฉุน และเป็นพิษอย่างรุนแรงเมื่อเผาไหม้ อาจทำให้ระคายเคืองเมื่อสูดดม
วิธีหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับไซยาไนด์
การหลีกเลี่ยงและลดโอกาสในการสัมผัสกับไซยาไนด์ อาจทำได้ ดังนี้
- งดสูบบุหรี่
- เก็บภาชนะที่บรรจุสารเคมีภายในบ้านให้มิดชิดและเหมาะสม
- ผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับสารเคมี ควรใช้ภาชนะรองรับสารเคมีที่มีขนาดเล็กที่สุด ซึ่งอาจช่วยให้ได้รับสารพิษน้อยลงหากเกิดอุบัติเหตุ รวมถึงลดโอกาสการสัมผัสและการสูดดมลงด้วย
- ผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับสารเคมี ไม่ควรนำเสื้อผ้าหรืออุปกรณ์ที่อาจปนเปื้อนไซยาไนด์ออกนอกสถานที่ทำงานหรือนำกลับบ้าน
- ติดตั้งเครื่องดักจับควัน เนื่องจากไซยาไนด์อาจมาในรูปแบบของควันได้
- สวมอุปกรณ์ป้องกันทุกครั้งเมื่อต้องทำงานกับสารเคมี หรือต้องเข้าไปในพื้นที่ที่มีการปนเปื้อนของไซยาไนด์
- ผู้ที่มีความเสี่ยงได้รับสารพิษสูง เช่น เกษตรกร ช่างเหล็ก ช่างทอง พนักงานที่อยู่ในกระบวนการการผลิตกระดาษ สิ่งทอ ยาง และพลาสติก ผู้ที่ทำงานกำจัดแมลง เป็นต้น ควรไปพบแพทย์และเข้ารับการตรวจสุขภาพเป็นประจำ
Leave A Comment